ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเกณฑ์อัตราชำระขั้นต่ำ จากปัจุบันร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ก่อนกลับเข้าสู่อัตราปกติ ร้อยละ 10 ในปีถัดไป
ผู้บริหารธนาคารยูโอบี ประเมินว่า ผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารที่มีพฤติกรรมจ่ายขั้นต่ำ ประมาณร้อยละ 20 ในจำนวนนี้ อาจมีผู้ถือบัตรที่ได้รับผลกระทบ หรือ สุ่มเสี่ยงขาดความสามารถชำระหนี้ ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารทั้งหมด ประมาณ 2,400,000 ใบ
ธนาคารจึงเตรียมมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาปรับค่างวดที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องความสามารถในการชำระหนี้ เป็นรายกรณี ตามนโยบายของแบงก์ชาติ
ขณะที่ นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เป็นห่วงว่า การปรับอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตช่วงนี้อาจไม่เหมาะสม หลังประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามคาด อาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้
จากปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ถือบัตรเครดิตเฉลี่ยคนละ 3-4 ใบ หากปรับขึ้นชำระขั้นต่ำจะส่งผลให้ผู้ถือบัตรจ่ายหนี้ไม่ไหว จากเดิมจ่ายเดือนละ 4,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 บาท โดยชมรมฯ จะติดตามผลกระทบในครึ่งปีแรก ก่อนหารือกับแบงก์ชาติต่อไป
สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาหนี้บัตรเครดิตจนกลายเป็น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL สามารถขอรับคำปรึกษากับคลินิกแก้หนี้ บาย แซม เพื่อเข้าสู่ระบบการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยสามารถผ่อนชำระในอัตราร้อยละ 3 – 5 ต่อปี นานสูงสุด 10 ปี
อ่านข่าวอื่น ๆ
ททท.คาด กิจกรรมปีใหม่ 2567 เงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท
เคานต์ดาวน์ 2024 คึกคัก! วัดอรุณ-เซ็นทรัลเวิลด์-ไอคอนสยาม คนแน่น
เปิด 5 อันดับคดีออนไลน์ อายัด 2 หมื่นบัญชี มากสุดลวงซื้อของ จับกุม 400 ราย