เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าวันโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยวันนี้ (6 ก.ค.2566) รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เปิดเผยว่า จะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้ง ถ้าในวันที่ 13 ก.ค. ยังโหวตไม่ผ่าน ก็จะให้เลือกรอบ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. และ รอบที่ 3 ในวันที่ 20 ก.ค. และเชื่อว่า 3 ครั้งนั้นน่าจะเพียงพอสำหรับให้ได้นายกรัฐมนตรีแล้ว
อ่านข่าว : “พิเชษฐ์” แย้มโหวตนายกฯ 3 รอบ หาก 13 ก.ค. ไม่ผ่าน ลุยต่อ 19-20 ก.ค.
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น หากครบกำหนด 3 ครั้งแรก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังไม่สามารถฝ่าด่านก้าวเข้าทำเนียบได้ จะเป็นรอยต่อสุญญากาศให้พรรคเพื่อไทยใช้จังหวะนี้พลิกเกม หากหงายหน้าไพ่ใบแรก พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 ต้องหารือกันใหม่เพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยพลิกให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนการหารือจะเป็นไปตามข้อตกลง MOU ที่จะต้องจับมือกันไว้แล้วไปต่อด้วยกัน หรือจะแยกวงไปสร้างมิตรใหม่หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา
อ่านข่าว : “ชัยธวัช” นัดกินข้าว แกนนำพรรคเพื่อไทย วันนี้
เสียงที่จะโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี จากเสียงของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค มีอยู่ 312 เสียง หักเสียงของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ไปดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. ของพรรคก้าวไกลที่ลาออกไป ทำให้ ณ ขณะนี้ มีเสียงสนับสนุนนายพิธา คงเหลือ 310 เสียง ยังขาดอยู่ 66 เสียง ถึงจะได้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง ตามที่รัฐสภากำหนด
สำหรับจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะสนับสนุนนายพิธา นั้นมีความเคลื่อนไหวจากทางพรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่ายังคงเดินหน้าเจรจาพูดคุยโดยตลอด กับสมาชิกวุฒิสภาขอการสนับสนุนให้โหวตนายพิธา และยังคงมั่นใจว่า ส.ว. จะเคารพเสียงของประชาชน แม้ว่าขณะนี้ มี ส.ว. บางคนเปลี่ยนท่าที และจำนวนอาจจะไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนด 376 เสียง
กลุ่ม ส.ว. ความเห็นต่างโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
กลุ่ม ส.ว. ความเห็นต่างโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ความคาดหวังอีก 66 เสียงที่พิธาต้องการ คงหนีไม่พ้น ส.ว. ซึ่งยังมีความคิดเห็นต่างกัน 3 กลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่มที่ไม่เปิดเผยการตัดสินใจ
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร โพสต์ข้อความว่า “ส.ว.มีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้” แต่ถ้อยคำที่ถูกนำไปตีความว่าส่งสัญญาณหรือไม่ คือข้อความที่ว่า “ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคย ศรัทธา หรือผลประโยชน์อื่นใด แต่เลือกเพื่อประเทศ ประชาชนและลูกหลาน”
นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ที่บอกรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ หรือ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม บอกแค่หลักพิจารณา ว่ายึดความมั่นคงของชาติ ศาสนาและประชาชนหรือไม่
2. กลุ่ม ส.ว. ที่เปิดเผยแล้วว่าไม่โหวตหนุนนายพิธา
โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ย้ำในจุดยืนเดิม ไม่โหวตให้ เพราะมีหลักการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยังคงปฏิเสธ แต่เพิ่มเติม ว่าหากเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่สลัดพรรคก้าวไกล ออกจากการร่วมรัฐบาลแล้ว ก็พร้อมจะโหวตให้
3. กลุ่ม ส.ว.ที่แสดงเจตนาพร้อมโหวตให้นายพิธา
คือนายมณเฑียร บุญตัน นายวันชัย สอนศิริ และนายอำพล จินดาวัฒนะ เป็นต้น
ทั้งนี้ตรวจสอบการลงคะแนนของ ส.ว. สอบถามไป 24 คน มี 8 คน ไม่โหวตให้นายพิธา , 5 คน โหวตหนุน , 9 คน ตัดสินใจวันโหวตและ 2 คนไม่ตอบคำถาม
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ , พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ , พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ขณะที่ทางฟากฝั่งของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค โพสต์เฟซบุ๊ก ยืนยันว่าการที่ รทสช. ส่งนายวิทยา แก้วภราดัย สู้กับพรรคก้าวไกล ในการโหวตรองประธานสภา เป็นการสู้เพื่อแสดงจุดยืน ไม่นำมาสู่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างแน่นอน
และปฏิเสธว่าจะไม่ส่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลงชิงตำแหน่งนายกฯ กับนายพิธา เพราะรวมไทยสร้างชาติ มีเพียง 36 เสียง ไม่พอที่จะไปเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาฯ อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ถึงจะตั้งไปก็อยู่ไม่ได้
ไทม์ไลน์โหวตนายกคนที่ 30
ไทม์ไลน์โหวตนายกคนที่ 30
ติดตาม ถ่ายทอดสด และ รายการพิเศษ “เลือกนายกฯ เลือกอนาคตประเทศไทย” ในวันที่ 13 ก.ค. ทางไทยพีบีเอส ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รทสช.ยันไม่ส่ง “พีระพันธ์ุ” ชิงนายกฯ คนที่ 30
เปิดขั้นตอนเลือก “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30
“ชัยธวัช” นัดกินข้าว แกนนำพรรคเพื่อไทย วันนี้
ตั้งวิปรัฐบาล (เดิม) ส่งสัญญาณสู้
Related Stories
พฤศจิกายน 2, 2024