ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล
พิธาบอกชาวลำปางเมื่อ 14 มิ.ย. ว่า “ขอให้อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะผมจะเป็นนายกฯ ที่รับใช้ทุกคนเท่าเทียมกัน”
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครบทั้งสภา 500 คน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลคล้ายมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น
ไม่กี่วันหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค. 8 พรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันในสภา 312 เสียง ประกาศสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลของชายวัย 42 ปี ยังไม่แน่นอนนัก จากการต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างน้อย 64 เสียง เพื่อให้ชนะโหวตกลางรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา หรือ 376 จาก 750 เสียง
รวมถึงการถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวี ซึ่ง กกต. อยู่ระหว่างการสืบสวนไต่สวนความผิดคดีอาญาว่าเข้าข่ายกระทำฝ่าฝืนมาตรา มาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ แม้ กกต. จะปล่อยให้พิธาเข้าสภา ในฐานะว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ตาม
“เราไม่สนใจเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการการทำงาน ต้องได้ข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าจะมีความรวดเร็วก็เกิดขึ้นกับการทำงาน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด” แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวที่ว่าต้องเร่งกระบวนการสืบสวนฯ ให้แล้วเสร็จก่อนโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่
ในระหว่างร่วมงานสัมมนาว่าที่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. ของก้าวไกล 500 คน เมื่อ 19 พ.ค. หัวหน้าพรรค ก.ก. สั่งให้ลูกพรรค “ออกไปขอบคุณประชาชนและเริ่มทำงานได้เลยทันทีไม่ต้องรอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง” โดยให้เหตุผลว่าประชาชนได้แสดงเจตจำนงชัดเจนแล้ว
End of เรื่องแนะนำ
ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยติงผ่านสื่อว่า การจัดตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของ 8 พรรค “ไม่สมควร ข้าราชการยังทำงานอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน” แต่บอกว่า “ไม่รู้สึก” หลังสื่อซักต่อว่ารู้สึกว่ามีนายกฯ ซ้อนหรือไม่
นอกจากการทำความหวังให้ปรากฏผล เตรียมทำงานแบบไร้รอยต่อ ภาพที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้รับการอธิบายจากแหล่งข่าวพรรค ก.ก. ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อว่า เป็นความพยายามในการ “สร้างแบบปฏิบัติใหม่” โดยทำให้พิธากลายเป็น “นายกฯ ในสายตาประชาชน” ท่ามกลางขบวนการสกัดกั้นการขึ้นสู่เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารของหัวหน้าพรรค ก.ก.
“ถ้าให้เปรียบเปรยง่าย ๆ ก็เหมือนกับคนที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส แต่จัดงานแต่งงาน บอกคนไปทั่วแล้ว วันข้างหน้ายังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้พิธาเสมือนเป็นนายกฯ ในสายตาประชาชนไปแล้ว” แหล่งข่าวจากพรรค ก.ก. กล่าวกับบีบีซีไทย
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พิธา ผู้ประกาศตัวเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย” ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน และพูดคุยกับภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และพรรคพันธมิตรการเมืองอย่างต่อเนื่อง
บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวมกำหนดการของแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค ก.ก. เฉพาะที่เปิดเผยต่อสาธารณะ สรุปข้อมูลได้ ดังนี้
ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล
พิธานำทีมคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคเข้าพูดคุย หารือ แลกเปลี่ยนนโยบายต่อต้านการทุจริต ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เมื่อ 8 มิ.ย.
“มีแต่คนเข้ามาจับมือ บอกว่าดีใจที่ได้เจอตัวจริง ดีใจที่นายกฯ มาเยี่ยมเยียน ประชาชนเขาเรียกคุณทิม (พิธา) ว่านายกฯ แล้ว หลายคนบอกว่าที่ผ่านมา แทบไม่ได้เจอนายกฯ หรือว่าที่นายกฯ แบบนี้เลยหลังการเลือกตั้ง” กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวกับบีบีซีไทย
เพชร-กรุณพล ร่วมคณะไปกับหัวหน้าพรรค ก.ก. ในระหว่างเดินสายขอบคุณประชาชนในภาคเหนือ เมื่อ 14-15 มิ.ย.
เขามองว่า เหตุที่ “ด้อมส้ม” และประชาชนทั่วไปให้การตอบรับพิธาอย่างล้นหลาม เป็นเพราะหน้าตา บุคลิก การวางตัวในสังคม และการให้เกียรติผู้อื่น แต่สิ่งที่เชื่อว่าทำให้คนประทับใจคือความเป็นกันเองและเข้าถึงง่าย
อดีตนักแสดงที่อยู่ในวงการบันเทิงมา 20 ปี ก่อนผันตัวมาทำงานการเมือง ยกตัวอย่างว่า เวลาคนมองศิลปินดารา จะมองว่าดาราต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ถ้ามีโอกาสสัมผัสตัวจริงแล้วพบว่าดาราก็เป็นคนปกติ คนก็จะประทับใจมากขึ้น เช่นเดียวกับว่าที่นายกฯ ซึ่งเป็นนักการเมือง เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ คนมักคิดว่าต้องเป็นผู้ใหญ่ สุขุม เข้าถึงยาก เคร่งขรึม
“อาจเพราะภาพที่ติดตามา 9 ปี ของผู้มีบุคลิกเคร่งขรึม อารมณ์ฉุนเฉียว เข้าถึงยาก ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องผิด แต่พอเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่สดใสกว่า หน้าตาดีกว่า วุฒิภาวะดีกว่า เข้าถึงตัวได้ง่ายกว่า ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นความหวังของประเทศ” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าว
ในทัศนะของ เพชร-กรุณพล การแสดงวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรค ก.ก. ผ่านเวทีประชุมต่าง ๆ หรือการให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ ทำให้ประชาชนมีโอกาสเห็นพิธาในหลากหลายแง่มุม ทั้งมุมพ่อ นักดนตรี นักฟุตบอล อดีตนักธุรกิจ อดีตข้าราชการ ซึ่งรวม ๆ แล้วเป็นคนธรรมดาที่จับต้องและเข้าถึงได้ ทำให้ผู้คนทุกอาชีพเกิดความรู้สึกว่า “มีความเป็นคนในกลุ่มเดียวกัน”
ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแสดงออกในระหว่างรอพบคณะของแคนดิเดตนายกฯ พรรค ก.ก.
การเดินสายพบปะผู้นำทุกระดับของสังคม สลับกับการเดินหน้าเข้าหามวลชนของแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคสีส้ม ถูกมองว่าจงใจทำให้เกิด “แบบปฏิบัติใหม่ทางการเมือง” และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้าง “นายกฯ เสมือน” ท่ามกลางอนาคตทางการเมืองที่ไม่แน่นอน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองโฆษกพรรค ก.ก. บอกว่า ถ้าประชาชนชอบ สังคมยอมรับ ก็อาจจะเป็นรูปแบบใหม่ที่ต่อไปภาคการเมืองก็ต้องมีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง แต่อาจต้องดูเป็นรายกรณีไป
แต่สิ่งที่ทั้งหัวหน้าพรรค และรองโฆษกพรรคขอปฏิเสธ คือการใช้ประชาชนเป็นเกราะกำบังทางการเมือง
“ไม่ใช่การที่เอาประชาชนมาเป็นเกราะกำบัง แต่ตั้งใจแก้ปัญหาให้ประชาชน ถ้าจะเอาประชาชนเป็นเกราะกำบัง คงไม่ต้องทำการบ้านแบบที่ผมทำทุกครั้ง” พิธาตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างลงพื้นที่เมื่อ 15 มิ.ย.
เช่นเดียวกับกรุณพลที่ย้ำกับบีบีซีไทยว่า “ไม่ได้ต้องการเอาประชาชนเป็นเกราะกำบัง หรือสร้างความกดดันให้รัฐบาลรักษาการ หรือ ส.ว. ในการเลือกไม่เลือกเรา และไม่ว่าจะได้เป็นหรือไม่เป็นรัฐบาล ยืนยันว่า 300 นโยบาย จะได้ผลักดันให้มากที่สุด อยากให้ทุกคนมั่นใจว่าสุดท้ายไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งไหน เราจะทำตามสัญญา”
เขาแจกแจงวัตถุประสงค์ของภารกิจ “พิธาพบประชาชน” ว่า โอกาสที่พิธาจะไปเจอประชาชนหลังรับตำแหน่งค่อนข้างยากกว่า ตอนนี้เป็นช่องว่างที่ไปพบประชาชนได้เพื่อขอบคุณ และเพื่อรับฟังปัญหาจากภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัด และอธิบายแนวนโยบายของพรรค
ก่อนหน้านี้ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำ “ราษฎร” ระบุผ่านเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน โดยสื่อสารถึงผู้สนับสนุนพรรค ก.ก. ที่เชื่อว่า การชุมนุมทางการเมืองไม่จำเป็น ไม่มีพลัง และไม่ใช่จังหวะที่ควรทำ ควรปล่อยให้พรรคดีลไปก่อน ถึงเวลา รอสัญญาณค่อยออก
“นี่คงนึกว่าที่พิธาเดินสายต่างจังหวัด เขาไปเที่ยวกระมัง การเตรียมพร้อมที่จะสู้มันมาถึงแล้ว ทุกคนต้องพร้อม และเมื่อฝ่ายสังคมเก่าปฏิเสธเสียงประชาชน เราต้องพร้อมสู้ทุกรูปแบบ แน่นอนว่าความห่วงใยในสถานการณ์อาจเกิดขึ้นได้ แต่เราต้องยืนยันในหลักการการชุมนุมโดยสันติว่าเป็นเสรีภาพที่ใครจะมาพรากไม่ได้ คนปราบปรามผู้ชุมนุมคือคนผิด ผิดกติกา ผิดรัฐธรรมนูญ” อานนท์ระบุเมื่อ 15 มิ.ย.
ภายหลังทราบมติ กกต. ให้ไต่สวนคดี ม. 151 ต่อพิธา เขาวิเคราะห์ไว้ว่า ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก และไม่ได้ลงคะแนนเลือกแบบทิ้งขว้าง แต่เลือกโดยเจตจำนงที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
“เชื่อว่ารัฐเองไม่อยากให้มันถึงจุดที่การชุมนุมมันออกมากันเป็นแสนเป็นล้านคน การพูดคุยกันตอนนี้สำคัญที่สุด และพยายามอย่านำสังคมเข้าไปสู่บรรยากาศที่มันอึมครึม สุ่มเสี่ยงจะใช้ความรุนแรงต่อกัน” อานนท์กล่าวและย้ำว่า พรรค ก.ก. มีความชอบธรรม 100% ในการจัดตั้งรัฐบาล จึงหวังว่าจะปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ คือพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล และบริหารประเทศ นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก