เพิ่ม thansettakij
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
เศรษฐกิจ
ประเด็น “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” หรือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ของแรงงานทั่วประเทศ รอบใหม่ ในปี 2567 อาจจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ ภายหลังคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี เตรียมนัดหารือเพื่อทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 อีกครั้ง ในวันนี้ (20 ธันวาคม 2566)
แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ครั้งนี้ น่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 รอบใหม่ ภายหลังกระทรวงแรงงาน ดึงเรื่องออกมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอไปทบทวนใหม่อีกครั้ง
เบื้องต้นจะมีการพิจารณาตัวเลขที่นำมาใช้คำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 นั่นคืออัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานจังหวัด เฉลี่ย 5 ปี (ปี 2560 – 2564) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2562 – 2566) มาประกอบการพิจารณา เพราะในการคำนวณตัวเลขรอบก่อนในบอร์ดไตรภาคี ใช้ตัวเลขในช่วงปี 2563 – 2564 แค่ 2 ปีเท่านั้นมาคำนวณ
“การหารือในบอร์ดไตรภาคี รอบนี้ น่าจะได้ข้อสรุป โดยนำสูตรคำนวณใหม่มาคิด ซึ่งอาจจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นมาอีกเล็กน้อยจากอัตราเดิมที่เคยเห็นชอบไว้ จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบมติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567 ได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป” แหล่งข่าว ระบุกับฐานเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ระบุรายละเอียดเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ ที่กระทรวงแรงงานเสนอเข้ามาในที่ประชุมครม. โดยระบุว่า ตามที่ได้เสนอเรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ไปเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีข้อสังเกตว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ที่เสนอในครั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้กำหนดสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ โดยนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานจังหวัด เฉลี่ย 5 ปี (ปี 2560 – 2564) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2562 – 2566) มาประกอบการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม โดยที่ในช่วงปี 2563 – 2564 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
ดังนั้น การนำข้อมูลในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ดังกล่าว มาใช้ประกอบการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ด้วย อาจไม่สะท้อนถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันอย่างแท้จริง
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567 นั้น ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 หรือปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงาน โดยจะเพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37%
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ มีการปรับอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา วันละ 330 บาท ซึ่งหากผ่านการเห้นชอบจากครม. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จํากัด 1854 ชั้น 8 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260
© 2021ThansettakijAll Rights Reserved.
Related Stories
พฤศจิกายน 15, 2024